วัณโรคคือ

 
การวินิจฉัยวัณโรค
 

ขั้นตอนที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค และโรควัณโรคประกอบไปด้วย

  • การประเมินผลทางการแพทย์ทั้งจากประวัติผู้ป่วย และความ
    เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเกิดโรค
  • การทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test)
  • การเอ็กซเรย์ปอด
  • การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
 

การทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test):

การทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนังต่อเชื้อวัณโรค จะใช้ในการตรวจสอบว่าคนผู้นั้นได้รับเชื้อ หรือติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ สารที่ถูกนำมาทดสอบเรียกว่า ทูเบอร์คูลิน (Tuberculin) จะถูกนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังของผู้ถูกทดสอบเพื่อดูปฏิกิริยาสารทูเบอร์คูลินดังกล่าวคือ สารโปรตีนที่มีสมบัติเหมือนเชื้อวัณโรค แต่จะไม่ก่อให้เกิดโรค หรือการติดต่อ และไม่ใช่วัคซีนด้วย ระบบภูมิคุ้มกันของคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อวัณโรคจะสามารถจดจำสารทูเบอร์คูลินนี้ได้ และจะทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นที่ผิวหนัง

วิธีทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนังที่นิยมใช้คือวิธี The Mantoux Method เพราะมีความแม่นยำสูง การทดสอบทำโดย ใช้เข็มฉีดยาฉีดสารที่จะทดสอบเข้าสู่ผิวหนังชั้นบนที่หน้าแขนผู้ป่วย 48-72 ชั่วโมงหลังจากฉีดจะทำการตรวจสอบ ปฏิกิริยาการบวมจะเกิดขึ้นที่รอบๆบริเวณที่ถูกฉีดสารเข้าไป การวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรคจะขึ้นอยู่กับขนาดของการบวม และปัจจัยเสี่ยงในแต่ละบุคคล ในคนที่เคยได้รับวัคซีน บีซีจีมาแล้วก็จะเกิดอาการบวมเช่นกัน แต่ปฏิกิริยาการบวมจะเกิดเป็นวงไม่กว้างมากจนเกินไป

 

ปฏิกิริยาทางผิวหนังหลังการทดสอบที่ให้ผลบวก อาจหมายความว่า:

  • ผู้ถูกทดสอบติดเชื้อวัณโรคถ้ามีปฏิกิริยาการบวมที่ผิวหนังเป็นวงกว้างมาก
  • เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคเมื่อหลายปีก่อน (เพราะปฏิกิริยาของบีซีจีจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป)
  • เคยอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อวัณโรค
  • มีสมาชิกในครอบครัวบางคนเป็นวัณโรค
  • มาจากประเทศที่พบอุบัติการณ์ของวัณโรคสูง (มักเป็นประเทศส่วนใหญ่ในแถบลาตินอเมริกา และแคริเบียน แอฟริกา และเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น)

การเอ็กซเรย์ปอด (A Chest X-Ray):

ถ้าหากมีการสงสัยว่าติดเชื้อวัณโรค หรือเป็นวัณโรค การเอ็กซเรย์ปอด จะช่วยให้แพทย์เห็นรอยโรค หรือร่องรอยการรักษาเก่าๆของวัณโรค ในผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่ได้เกิดวัณโรคมักให้ผลเอ็กซเรย์ปอดปกติ

การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย (A Bacteriological Examination):

ในการตรวจด้วยวิธีนี้จะเป็นการหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรควัณโรคจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งจากปอด (เสมหะ) ซึ่งจะต้องมีจำนวนเชื้อมากเพียงพอจึงจะตรวจหาด้วยวิธีนี้ได้

การตรวจหาเชื้อได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น ในปัจจุบันในประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาการตรวจหาเชื้อวัณโรคแบบทราบผลเร็ว (TB Fast Track) ขึ้นมาซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจะมีการตรวจหาสารพันธุกรรม การเพาะเชื้อเพื่อเพิ่มจำนวน และทดสอบความไวของเชื้อต่อยาด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันสมัย

 

Copyright © 2010 Microbiology Department, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University. All rights reserved.